สารบัญบทความ
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ความเชื่อของคนไทยล้วนเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ฤกษ์เปิดกิจการ การเลือกสีรถมงคล เลขทะเบียนรถมงคล รวมไปถึงการไหว้แม่ย่านางรถ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถของเราให้แคล้วคลาดจากอันตราย วันนี้เรามีขั้นตอนการไหว้ การเตรียมของไหว้ และคาถาไหว้แม่ย่านางรถมาฝากกันครับ
ตำนานแม่ย่านางรถ
ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตที่คนยังใช้เรือเป็นยานพาหนะสัญจรอยู่นั้น ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเดินเรือเป็นอย่างมาก ในทุก ๆ ครั้งการเดินทางของนางนั้นไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้คนบนเรือจะต้องเกิดอันตรายแม้แต่ครั้งเดียว
แต่อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เดินเรืออยู่นั้น เกิดมีพายุฟ้าคะนองสร้างความตื่นตกใจให้ลูกเรือเป็นอย่างมาก นางจึงรีบอธิษฐานทูลขอพระอินทร์ให้ไว้ชีวิตลูกเรือของนาง แต่พระอินทร์นั้นมีเงื่อนไขว่า ก่อนที่จะช่วยชีวิตลูกเรือทั้งหมด ต้องแลกกับการที่นางกลายเป็นผู้พิทักษ์เรือตลอดไป เมื่อตกปากรับคำ นางและลูกเรือจึงปลอดภัย นางจึงกลายเป็นผู้พิทักษ์เรือตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับแม่ย่านางที่เล่าขานแตกต่างกันอีกมากมาย แต่ทุกตำนานล้วนมีส่วนที่เล่าตรงกัน คือแม่ย่านางเป็นผู้พิทักษ์เรือนั่นเอง จากตำนานเหล่านั้น ทำให้คนไทยจำนวนมากนับถือบูชากราบไหว้แม่ย่านาง โดยนิยมบูชาหัวเรือด้วยผ้าสามสี เครื่องเซ่น พวงมาลัยต่าง ๆ ไว้ตรงหัวเรือ ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสัญจรทางบกมากขึ้น จึงมีความเชื่อว่าแม่ย่านางได้ติดมากับยานพาหนะแบบใหม่ด้วย จะเห็นได้ว่าผู้บูชาแม่ย่านางจะผูกผ้าสามสี หรือแขวนพวงมาลัยไว้ที่กระจกหน้ารถและตั้งเครื่องรางต่าง ๆ ไว้ที่บริเวณใกล้เคียง
ไหว้แม่ย่านางรถวันไหนดี
คนไทยส่วนใหญ่นิยมไหว้แม่ย่านางรถวันปีใหม่ วันสงกรานต์ (วันที่ 15 เมษายน) วันตรุษจีน หรือทุกวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ แต่หากไม่สะดวกในวันดังกล่าว ก็จะถือฤกษ์สะดวกตามวันและโอกาสที่มี ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ จะทำการไหว้เพียงแค่ปีละครั้ง แต่ถ้าใครที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับรถประเภทต่าง ๆ เช่น รถทัวร์ รถตู้ รถบรรทุก หรือรถสิบล้อ แนะนำให้ทำพิธีหาของไหว้แม่ย่านางรถปีละ 2 ครั้ง
โดยเวลาไหว้แม่ย่านางรถจะเป็นช่วงเช้า ประมาณ 07.09 น. – 10.09 น. เลือกได้ตามสะดวก
ฤกษ์ไหว้แม่ย่านางรถ ปี 2565
เดือน | เวลาไหว้แม่ย่านางรถ |
---|---|
มกราคม | 07.19 น. |
กุมภาพันธ์ | 07.09 น. |
มีนาคม | 08.13 น. |
เมษายน | 09.09 น. |
พฤษภาคม | 08.45 น. |
มิถุนายน | 07.36 น. |
กรกฎาคม | 09.23 น. |
สิงหาคม | 07.49 น. |
กันยายน | 09.24 น. |
ตุลาคม | 08.39 น. |
พฤศจิกายน | 07.57 น. |
ธันวาคม | 08.09 น. |
ของไหว้แม่ย่านางรถต้องเตรียมอะไรบ้าง
ความเชื่อในแต่ละภูมิภาค ของไหว้แม่ย่านางรถจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของท้องถิ่น แต่หลัก ๆ มีดังนี้
- ธูป 9 ดอก
- เทียน 2 เล่ม
- ข้าวสาร 1 ถ้วย
- น้ำเปล่า 1 แก้ว หรือ 1 ขวด
- หมาก พลู และยาเส้นสีฟัน 3 คำ
- ยาสูบ 3 มวน
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง
- กล้วยน้ำว้าสุก 2 หวี (จำเป็นต้องมี) หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล
- สับปะรด หมายถึง โชคลาภ เงินทอง ความเป็นสิริมงคล
- แก้วมังกร หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย
- ทับทิม หมายถึง ความแน่นแฟ้น ความสามัคคี ครอบครัวอบอุ่น ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน
- ส้ม หมายถึง ความโชคดีมีชัย
วิธีไหว้แม่ย่านางรถอย่างถูกวิธี
ขั้นตอนการไหว้แม่ย่านางรถ
- ตั้งโต๊ะไว้หน้ารถ นำของที่เตรียมไว้จัดวางบนโต๊ะให้เรียบร้อย (ควรหากระถางปักธูปที่ปลอดภัย เน้นห่างจากรถ เพราะอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้รถของเราได้)
- เพื่อความเป็นสิริมงคล ควรหันรถและของไหว้ ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ
- สตาร์ทรถพร้อมบีบแตร 3 ครั้ง เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย
- จุดธูป 9 ดอก และเทียน 2 เล่ม ที่เตรียมไว้ ตั้งจิตสมาธิ เริ่มกล่าวคำไหว้แม่ย่านางรถ
คาถาไหว้แม่ย่านางรถ
บทสวดคำถวายของไหว้แม่ย่านางรถ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ทุติยัมปิ สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ตะติยัม สุทินนัง วัตถุทานัง อาสาวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ลูกขอถวายสิ่งเหล่านี้แก่แม่ย่านางรถ ขอท่านจงรับซึ่งสิ่งเหล่านี้
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ลูกทั้งหลายเทอญ สาธุ
- จากนั้นให้ตั้งจิตกล่าวคำอธิษฐานที่ตนอยากได้รับ และจนกว่าธูปหมดดอก แล้วกล่าวคำลาไหว้แม่ย่านางรถต่อไป
บทสวดคำลาของไหว้แม่ย่านางรถ
- เมื่อธูปหมดดอก จุดยาสูบ 3 มวนให้เจ้าที่ และรอประมาณ 3 นาที จากนั้นกล่าวคำลาของไหว้แม่ย่านางรถ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พุทธังลา ธัมมังลา สังฆังลา
ข้าพเจ้าขอลาสิ่งของเหล่านี้เพื่อให้เป็นทานต่อไป
เป็นยารักษาโรค อย่าให้เกิดโทษเลย
นะ เสสัง มังคะลา ยาจามะ
- หลังจากกล่าวคำลาของไหว้แม่ย่านางรถแล้ว สามารถนำของไหว้ไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
สีริบบิ้นของพวงมาลัยตามวันเกิด
การเลือกสีพวงมาลัยให้ถูกโฉลก เสริมสิริมงคลกับผู้ขับขี่นั้นควรเลือกสีริบบิ้นของพวงมาลัยให้ตรงตามวันเกิดของผู้ขับขี่ด้วยดังนี้
วันเกิด | สีริบบิ้น |
วันอาทิตย์ | สีเขียว |
วันจันทร์ | สีม่วง |
วันอังคาร | สีน้ำเงิน |
วันพุธ | สีเหลือง |
วันพฤหัสบดี | สีแดง |
วันศุกร์ | สีชมพู |
การไหว้แม่ย่านางรถ สิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่บนความเชื่อส่วนบุคคล การที่เราจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุเหตุ ก็อยู่ที่ความไม่ประมาทของตัวเราเอง เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นต้องมีสติในการขับรถด้วยนะครับ